ข่าวประชาสัมพันธ์

จากเหนือสุดสู่ปลายด้ามขวาน "มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ" มุ่งมั่นบรรเทาวิกฤติโควิด-19

เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยาวนานและส่งผลกระทบสู่เราทุกคน ไม่เลือกศาสนา ชาติพันธุ์ กระจายสู่ทุกสถานที่ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ วันนี้จึงให้การสนับสนุนจัดตั้ง “ศูนย์พักคอยชุมชน” ไปแล้ว 56 แห่งตั้งแต่จังหวัดเหนือสุดของประเทศไทยที่จังหวัดเชียงราย จนถึงใต้สุดที่จังหวัดนราธิวาส

จังหวัดเชียงราย เหนือสุดของประเทศไทย นายวิเศษ เชยกระรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงรายเขต 3 ได้บอกเล่าผลกระทบจากการที่มีเด็กในโรงเรียนได้รับเชื้อโควิด-19 และความช่วยเหลือจัดตั้งศูนย์พักคอยจากมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ ว่า

“จากจุดเริ่มต้นคลัสเตอร์ที่ชุมชนรุ่งเจริญ อำเภอแม่จัน มีนักเรียนในพื้นที่ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มต้น 10 คน และเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องเป็น 68 ราย และยังมีผู้ป่วยที่ต้องแยกกักตัวในหมู่บ้านและบ้านของตนเองเกือบ 210 ราย ชุมชนพบปัญหาเรื่องการจัดการโรงพยาบาลสนามที่ให้ผู้ติดเชื้อทั้งเด็กและผู้ใหญ่อยู่ร่วมกันไม่เพียงพอ จึงได้มีแนวคิดให้โรงเรียนเป็นจุดพักคอย โดยใช้โรงเรียนบ้านแม่คำ ซึ่งมีจำนวนนักเรียนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ให้มาพัก เด็กส่วนใหญ่ที่นี่เป็นเด็กชาติพันธุ์ครับ ครอบครัวมีความยากลำบากในการดูแลเพราะอยู่กันแออัด การมาอยู่ในศูนย์พักคอยจึงสะดวกและปลอดภัย ทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว ขอบคุณมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ ที่ได้ร่วมกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และภาคีเครือข่ายในชุมชน ร่วมกันจัดตั้งศูนย์พักคอยชุมชน เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ได้รับเชื้อโควิด-19 ที่โรงเรียนบ้านแม่คำ (ประชานุเคราะห์) อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย”

อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่ห่างไกลที่มีเพียงแม่น้ำเมยคั่นระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มเด็กและเยาวชน เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ. จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถ่ายทอดผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้นในชุมชน พร้อมความช่วยเหลือที่ได้นำไปสนับสนุนว่า

“อำเภอสบเมยพบการระบาดของโรคโควิด-19 กระจายตัวถึง 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ บ้านห้วยมะโอ บ้านสบเมย โรงเรียนสบเมยวิทยาคม บ้านแม่สวด และที่บ้านคอนผึ่ง มีผู้ติดเชื้อรวมแล้ว 62 ราย และยังมีกลุ่มเสี่ยงที่ตรวจพบเชื้อด้วยชุด ATK อีกเกือบ 200 คน ด้วยอุปสรรคของพื้นที่ ประกอบกับเป็นช่วงที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง การเดินทางลงจากดอยเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผู้นำชุมชนจึงแก้ปัญหาแยกกักตัวผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงโดยจัดทำเป็นเพิงพักตามหัวไร่ปลายนา หรือกักตัวในโรงเรียน มูลนิธิฯ ก็ได้นำส่งถุงยังชีพ อาหารแห้ง และยารักษาเบื้องต้น นำไปมอบเพื่อดูแลผู้ป่วยทุกคน”

ที่ จังหวัดศรีสะเกษ ถิ่นที่ราบสูงชายแดนไทย-กัมพูชา นายวีระยุทธ ดวงแก้ว กำนันตำบลเสาธงชัย และผู้อำนวยการศูนย์พักคอยชุมชนตำบลเสาธงชัย (บ้านภูมิสรอล) อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นตัวแทนบอกเล่าถึงน้ำใจที่ได้รับเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จากมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ

“ชุมชนของเราได้ตั้งศูนย์พักคอยเพื่อแยกตัวผู้ป่วยที่ติดเชื้อไม่ให้พักอยู่ที่บ้านซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัว ความช่วยเหลือที่ได้รับจากมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ ไม่ว่าจะเป็นอาหารและของใช้จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อ ผงซักฟอก ที่นอน หมอน มุ้ง เวชภัณฑ์สำหรับบุคลากรสาธารณสุขที่จะต้องคอยดูแลผู้ป่วย ชุด PPE รวมไปถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่ชุมชนไม่มีกำลังจะจัดหาได้ เช่น เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจน ทำให้ศูนย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ สิ่งสำคัญที่ทำให้ชุมชนเกิดความมั่นใจว่าศูนย์พักคอยจะไม่มีการแพร่เชื้อไปสู่ชาวบ้านในชุมชนคือ การได้รับสนับสนุนน้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับศูนย์ฯ และยังเป็นประโยชน์ในการนำไปพ่นฆ่าเชื้อในชุมชนด้วย ขอบคุณความช่วยเหลือที่มอบให้กับชุมชนห่างไกลของพวกเรามากครับ”

ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ ขยายผลไปไกลสู่ดินแดนปลายสุดด้ามขวาน ที่ จังหวัดนราธิวาส

นายอรุณ ศรีใส นายอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เล่าถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ว่า “ได้ทำการปิดหมู่บ้านในพื้นที่จำนวน 2 หมู่บ้านคือหมู่ 2 บ้านบาลูกายาอิง และหมู่ 3 บ้านไอดีแย อำเภอสุคิริน ควบคุมให้กลุ่มเสี่ยงอยู่ในวงจำกัดด้วยการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในสถานกักกัน และในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำให้กักตัวที่บ้าน โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นถึง 33 ราย จึงได้จัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และต้องขอขอบคุณ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ เพื่อเด็กและเยาวชนฯ ที่ให้การสนับสนุนในเรื่องอุปกรณ์การแพทย์และเครื่องใช้ในศูนย์พักคอย 2 แห่ง คือ ศูนย์พักคอยโรงพยาบาลสุคิริน และโรงพยาบาลสนามในหอประชุมโรงเรียนสุคิรินวิทยา อีก 1 แห่ง ให้กับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ทำให้การจัดตั้งศูนย์ครั้งนี้ได้สำเร็จ สามารถดูแลเด็กและพี่น้องที่ได้รับเชื้อได้อย่างมีความพร้อมมากขึ้นครับ”

ปัจจุบัน มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ ได้ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พักคอยแล้ว 56 แห่ง สามารถให้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว และกลุ่มเสี่ยงไปแล้ว 5,930 คน เป็นผู้ปวยเด็ก 1,096 คน และผู้ป่วยผู้ใหญ่ 4,834 คน โดยยังคงมีการประเมินเพื่อให้การช่วยเหลือเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่ยังขาดแคลนให้แก่บุคลากรแถวหน้าอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก

โครงการ บริจาคช่วยชุมชน ฝ่าวิกฤติโควิด-19 วันนี้ เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์พักคอย” สำหรับผู้ป่วยต่างจังหวัด

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสาร

ข้อมูลของท่านจะถูกจัดเก็บรักษาความปลอดภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

English

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก