เรื่องเล่าจาก CCF

“เตหน่า" ดนตรีวิถีปกาเกอะญอ จ.เชียงใหม่

วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง ...

        ในเสียงดนตรี มีเรื่องเล่า และหนึ่งในเรื่องเล่าที่ชาวปกาเกอะญอ มักเล่าขานคืองานสร้างสรรค์เครื่องดนตรีประจำท้องถิ่น ที่เรียกว่า “เตหน่า” ซึ่งในอดีตกว่าจะได้เครื่องดนตรีสักหนึ่งตัว ต้องใช้เวลาประกอบร่างกว่า 3 ปี จึงจะแล้วเสร็จ ด้วยพิธีรีตองมากมาย อย่างปีที่หนึ่งต้องจับจองไม้มาสร้างตัวเตหน่า โดยเลือกหาเฉพาะคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง ตามความเชื่อว่าเนื้อไม้จะแห้งดีที่สุดเหมาะที่จะนำไม้มาทำเตหน่าในช่วงเวลานี้ หลังจากได้ไม้ก็นำไม้มาฝังดินตามทางสามแพร่งจนครบหนึ่งสัปดาห์ ค่อยขุดนำไปขึ้นรูปและปีต่อไปจึงทำการขึงสาย การรอคอยจึงทำให้เกิดเรื่องเล่ามากมายที่เจือไว้ด้วยความผูกพันกับธรรมชาติ เช่นเดียวกับวิถีชีวิตของชุมชนปกาเกอะญอซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีเรื่องเล่าของเตหน่าที่แตกต่างกันออกไป

        “เตหน่า หรือ เตนา” เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดของชาวปกาเกอะญอ ที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เตหน่ามีคอยาวโค้งงอคล้ายพิณของพม่า มี 6 สาย ทำจากโลหะ ยึดติดกับลูกบิดพาดจากคอพิณมาถึงลำตัว มีความสั้น-ยาวไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดระดับเสียงที่แตกต่างกัน ตัวพิณเป็นกล่องด้านในกลวงเป็นกระพุ้งเสียง ทำจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ประกอบในพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ อาจจะใช้บรรเลงอย่างเดียวหรือประกอบการขับร้องด้วยก็ได้

        ว่ากันว่าคนเล่นและคนฟังต้องใช้หัวใจในการเล่นไปพร้อมกัน  เสียงดนตรีที่ได้ยินเป็นเสียงที่เย็นสบายและสามารถส่งต่อความรู้สึกในการบรรเลงเพลงได้เป็นอย่างดี พี่น้องนักดนตรีชาวปกาเกอะญอหลายรุ่นพยายามส่งต่อและอนุรักษ์การเล่นดนตรีนี้ให้เด็กและเยาวชนรุ่นหลังได้ใช้เครื่องดนตรีประจำถิ่นเชื่อมโยง บอกเล่าเรื่องราวของป่าที่เป็นเหมือนบ้าน และถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นผ่านบทเพลงให้คงอยู่สืบไป

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสาร

ข้อมูลของท่านจะถูกจัดเก็บรักษาความปลอดภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

English

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก