เรื่องเล่าจาก CCF

ดอกเกลือบานที่บ้านดุง จ.อุดรธานี

ภาพ/เรื่อง : คุณสงกา สามารถ
หัวหน้าโครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ บ้านดุง จ.อุดรธานี
 
        คำกล่าวที่ว่า จงรักษาความดีดั่งเกลือรักษาความเค็ม เคยได้ยินคนเก่าแก่บอกเล่าและใช้กันมานาน และก็ยังสามารถใช้ได้อยู่ เกลือมีแหล่งผลิตและที่มากันมากมายหลายแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นเกลือสมุทร (เกลือที่ได้จากการกลายเป็นไอของน้ำทะเล ใช้ในการทำอาหารและเครื่องสำอาง มักมีราคาแพงกว่าเกลือแกง) หรือเกลือสินเธาว์ (เกลือชนิดหนึ่งที่ได้จากหินเกลือ หรือ ดินเค็ม ดินโป่ง เกลือสินเธาว์ เป็นเกลือที่พบบนบก และพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย) และมีความแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของเกลือ แต่สำคัญยังไงก็มีความเค็ม ซึ่งวันนี้จึงอยากจะนำมาให้รู้จักกับเกลือบ้านดุง
 
        เกลือบ้านดุงขึ้นชื่อว่าเป็นเกลือที่มีคุณภาพและมีรสชาติดีกว่าเกลือทะเลเพราะไม่มีซัลเฟตมาก สามารถผลิตเป็นเกลือไอโอดีนได้ ที่สำคัญเกลือต้มของอำเภอบ้านดุง ทำมาจากน้ำเค็มปนหวานจะไม่มีรสขม นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสไปเคารพสักการะปู่คำชะโนดต่างพากันซื้อเกลือบ้านดุงกลับบ้านและเป็นของฝาก เกลือคุณประโยชน์ของเกลือมีหลายประการ เช่น การดองผัก ดองผลไม้ ล้างผักฆ่าเชื้อโรค ถนอมอาหารตากแห้ง ดับกลิ่นเหม็นคาว เป็นส่วนผสมของอาหารมากมาย และเป็นส่วนผสมการทำปุ๋ยเคมี สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ผงซักฟอก ครีมนวด เป็นต้น 
 
        อำเภอบ้านดุงตั้งอยู่บนแหล่งหินเกลือขนาดใหญ่ สามารถสูบเอาน้ำเกลือความลึก 70 - 80 เมตร ขึ้นมาผลิตเป็นเกลือสินเธาว์ ในปัจจุบันมีกระบวนการผลิตเกลือ 2 ประเภท คือ
 
  1. เกลือตาก การสูบน้ำเกลือจากใต้ดินเข้าแปลงนาที่เป็นลานดิน หรือบางเจ้าทำเป็นลานคอนกรีต หรือลานผ้าใบ ที่ระดับความสูงของน้ำเกลือประมาณ 4-5 นิ้ว โดยใช้เวลาตากประมาณ 15 – 16 วัน น้ำเกลือตากแดดจับเป็นผลึกขาว แล้วกวาดรวมกันเป็นกองและบรรจุกระสอบ (ค่าจ้างเก็บบรรจุกระสอบละ 6-10 บาท) เก็บเข้าฉางเพื่อรอจำหน่าย
  2. เกลือต้ม การสูบน้ำจากใต้ดินใส่หม้อต้มโดยใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง (ประมาณ 800 - 900 กก./หม้อ) ใช้เวลาต้มประมาณ 10 ชั่วโมง น้ำเกลือก็จะกลายเป็นเกลือ ในระหว่างต้มก็จะมีการผสมไอโอดีนประมาณ 25 กรัม โดย 1 หม้อต้มสามารถผลิตเกลือได้ 500 กิโลกรัม
 
        การผลิตเกลือบ้านดุงได้มีการพัฒนากรรมวิธีการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตเกลือที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการผลิตทำให้ได้ “ดอกเกลือ” ซึ่งเป็นเกลือที่เกิดจากการตกผลึกในช่วงต้นของการเกิดเกลือสินเธาว์ มีคุณสมบัติที่ดีกว่าเกลือสินเธาว์เมล็ดขาวทั้งทางด้านรสสัมผัสและการนำไปใช้ในกิจวัตรประจำวัน ดอกเกลือจะมีรสเค็มน้อยกว่าเมล็ดเกลือ ทำให้ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจบริโภคดอกเกลือกันมากขึ้น
การเก็บเกลือถือว่าเป็นอาชีพหนึ่งของชาวนาเกลือที่แฝงด้วยความรู้ทักษะและภูมิปัญญา ที่ทำให้ได้เกลือที่มีคุณภาพและยังสร้างรายได้ให้กับคนที่รับจ้างเก็บเกลือ การทำนาเกลืออำเภอบ้านดุงนอกจากจะทำให้ได้ผลผลิตเกลือที่มีคุณภาพแล้ว ยังสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ เกิดความภูมิใจกับอาชีพการทำนาเกลือและผลิตภัณฑ์เกลือบ้านดุง มีการพัฒนากระบวนการผลิตเกลือเพื่อให้ได้เกลือที่มีคุณภาพมีอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ยังคงเอกลักษณ์วิถีการทำนาเกลือบ้านดุงไว้เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้สืบสานวิถีชีวิตการทำเกลือ
 
        แม่น้องไข่มุก อายุ 8 ขวบ มีอาชีพรับจ้างทำนาเกลือ เล่าว่า “ครอบครัวของตนมีสมาชิก 4 คน มีตนและสามี มีน้องธิมาที่เป็นเด็ก ซี.ซี.เอฟ และน้องธิรดา อายุ 3 ขวบ ตนและสามีมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ช่วงทำนาก็จะไปรับจ้างทำนาเกี่ยวข้าว ช่วงทำนาเกลือเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคมก็จะไปรับจ้างเก็บเกลือ “ช่วงวันหยุดหรือปิดภาคเรียนก็ให้น้องธิมาและน้องธิรดาไปเลี้ยงดูแลที่นาเกลือด้วย” เริ่มทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพราะอากาศไม่ร้อนมากและเลิกทำงานประมาณบ่าย 3 โมง ทำให้พอมีรายได้ใช้จ่ายในครอบครัว ทั้งค่านม ค่าแพมเพริส ค่าใช้จ่ายไปโรงเรียนของน้องธิมาและน้องสาวที่กำลังเข้าเรียนในชั้นอนุบาล
 
        อำเภอบ้านดุงมีพื้นที่ผลิตเกลือประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่งอยู่ใน 4 พื้นที่คือ พื้นที่ทำนาเกลือบ้านทุ่ง ตำบลบ้านชัย พื้นที่บ้านฝาง บ้านโพนสูงเหนือ-บ้านโพนสูงใต้ ตำบลโพนสูง พื้นที่บ้านดุงน้อย บ้านศรีสุทโธ ตำบลศรีสุทโธ และ บ้านดุงเหนือ ตำบลบ้านดุง
 

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสาร

ข้อมูลของท่านจะถูกจัดเก็บรักษาความปลอดภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

English

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก