ข่าวประชาสัมพันธ์

มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ ชวนรู้ ประเพณีโล้ชิงช้า ชาวอาข่า ที่ เชียงราย

           “แย้ขู่อ่าเผ่ว” หรือ "ประเพณีโล้ชิงช้า” ของชาวอ่าข่า จัดขึ้นช่วงเดือนสิงหาคม ถึง เดือนกันยายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับเดือน ฉ่อลาบาลา” ของชาวอ่าข่า จัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองพืชผลต่าง ๆ ที่เพาะปลูกไว้ให้เจริญงอกงามด้วยดี นอกจากนี้ยังเป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิง ซึ่งจะมีนำเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับสวยงามต่างๆ ที่เตรียมเอาไว้ตลอดทั้งปีมาสวมใส่เป็นกรณีพิเศษในเทศกาลนี้ 

          การทำชิงช้าของหมู่บ้านจะใช้เสาไม้ขนาดใหญ่ 4 เสา รวบปลายสำหรับใช้ในพิธีโล้ชิงช้า สายโล้ชิงช้าทำจากเถาวัลย์ถักเปียเป็นเส้นเดียว หมายถึงความกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเสาชิงช้าเป็นสถานที่สำคัญของของหมู่บ้าน จะใช้เล่นเฉพาะช่วงที่มีพิธีเท่านั้น หลังเสร็จสิ้นพิธีแล้วห้ามแกะมาเล่นเด็ดขาด หากฝ่าฝืนก็จะต้องถูกปรับตามธรมมเนียมของชาวอ่าข่า

          ประเพณีโล้ชิงช้า จะจัดขึ้น 4 วันโดยแต่ละวันมีพิธีกรรมดังนี้ วันที่ 1 หรือ “จ่าแบ” ผู้หญิงอาข่าที่เป็นแม่บ้านของครอบครัว แต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่าเต็มยศแล้วออกไปตักน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อจะนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรม ในวันแรกจะมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของแต่ละครอบครัว  วันที่ 2 วันสร้างชิงช้า  เช้าตรู่ ผู้ชาย หัวหน้าครอบครัวแต่ละบ้านจะไปช่วยกันหาต้นไม้เถาวัลย์เพื่อจะนำมาทำเสาชิงช้าจำนวน 4 ต้น ในวันนี้จะไม่มีการทำพิธีใด ๆ ทั้งสิ้น หลังจากที่สร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชนเสร็จ ก็จะมีพิธีเปิดโล้ชิงช้าโดย “เจว่มา” ผู้นำศาสนา จะเป็นผู้เปิดโล้ก่อน หลังจากที่สร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชนเสร็จ ต้องมาสร้างชิงช้าเล็กไว้ ที่หน้าบ้านของตนเองอีกเพื่อให้ลูกหลานของตนเล่น ทุกครัวเรือนจะต้องสร้างเพราะถือว่าเป็นพิธี  วันที่ 3 “วัน ล้อดา อ่าเผ่ว” ทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษตั้งแต่เช้าตรู่ วันนี้ถือเป็นวันพิธีใหญ่ มีการเลี้ยงฉลองกันทุกครัวเรือนมีการเชิญผู้อาวุโส หรือแขกต่างหมู่บ้านมาร่วมรับประทานอาหาร ผู้อาวุโสก็จะมีการอวยพรให้กับเจ้าบ้านประสบแต่ความสำเร็จในวันข้างหน้า เด็ก ๆ วัยรุ่น ผู้ใหญ่ทั้งชายหญิงก็จะเล่นชิงช้ากัน โดยเฉพาะหนุ่ม ๆ ต้องแสดงความสามารถในการโหนชิงช้าให้สูงเพื่อให้เป็นที่สนใจของสาว ๆ วันที่ 4 “จ่าส่า” ในวันนี้จะไม่มีการประกอบพิธีกรรมอะไรทั้งสิ้น นอกจากพากันมาโล้ชิงช้าจนถึงตะวันตกดิน หรือประมาณ 18.00 น ผู้นำศาสนาจะทำการเก็บเชือกของชิงช้าโดยการมัดติดกับเสาชิงช้า หลังอาหารค่ำก็จะทำการเก็บเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ เข้าไว้ที่เดิม ถือเป็นเสร็จสิ้นพิธีกรรมประเพณีโล้ชิงช้า

          ในเขต ต.แม่สลองใน ต.แม่สลองนอก ต.เทอดไท จ. เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่งานพัฒนาให้ความช่วยเหลือเด็กและครอบครัวด้อยโอกาสของ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี 2528 ได้พบว่ามีการจัด "ประเพณีโล้ชิงช้า” มายาวนาน เป็นสีสันที่สร้างความสนใจและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างถิ่นทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศมาเยี่ยมชมอัตลักษณ์ชุมชนนี้เป็นอย่างมาก ปัจจุบัน มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ มีเด็กในความดูแลกว่า 1,000 คน ซึ่งเป็นชนเผ่าอาข่า ลาหู่ และ ชนเผ่าอื่นๆ ราว 40% ที่ได้รับความช่วยเหลือด้านทุนสนับสนุนการศึกษา และกิจกรรมเสริมทักษะในแนววิถีชีวิตใหม่เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง

(อ้างอิงข้อมูลจาก www.travel.mthai.com และ https://www.tetcontactcenter.com)

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสาร

ข้อมูลของท่านจะถูกจัดเก็บรักษาความปลอดภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

English

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก