เรื่องเล่าจาก CCF

“เหยา” ของชาวไทโส้ จ.นครพนม

          “เซินตะดกละแสง เซินแต่แซงมะนาง  เซินยอนางเอย ดรุ๊กอีตู จูเยก ยางเอย ขอเชิญสิ่งศักดิ์สิทธ์ขุนเขา ขอเชิญแสงตะวันอันแรงกล้า  เชิญเถิดขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงมาให้ขวัญทั้งหลายจงมาร่วมกัน ณ ที่นี้”  เสียงก้องกังวานดังทั่วหมู่บ้าน จากพิธี “เหยา” หรือ “แซงสนาม” ของชนชาวเผ่าไทโส้หรือไทกะโซ่ บ้านนาขมิ้น (บ้านดง) อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม

          นายเหวย อดีตผู้ใหญ่บ้าน เล่าให้ฟังว่า “ชาวบ้านดงได้ อพยพมาอยู่ที่นี้นานมาก ๆ คนในหมู่บ้านทำมาหากินด้วย การทำนา ทำสวน ทำไร่ ผู้หญิงว่างจากงานสวนงานไร่ก็จะทอผ้า วัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ของชาวไทโส้ คือ “เหยา”

          คุณปู่จันดี ปราชญ์ชาวบ้าน ได้เล่าเรื่องราวประเพณีเหยาเพิ่มเติมว่า  “เหยา” เป็นการเรียกขวัญเพื่อรักษาคนป่วยชาวไทโส้เชื่อว่ามีผีหรือวิญญาณที่ทำให้คนเจ็บป่วย มีอาการบางอย่างเกิดขึ้น เจ็บไข้เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปรักษาในโรงพยาบาลก็ไม่หาย แต่พอทำพิธีเหยาอาการก็จะดีขึ้นและเพื่อเป็นการซ่อมเสริมสุขภาพของตน กลุ่มคนที่รักษาด้วยการเหยาในแต่ละหมู่บ้านจะรวบรวมผู้ที่มีศรัทธาให้มาทำพิธีร่วมกันเป็นประจำทุกปี โดยจัดทำพิธีขึ้นในหมู่บ้านของตนและนิยมจัดกันระหว่างช่วงเดือน 4 ถึง เดือน 5 ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน ดอกไม้ป่าบานสะพรั่ง สามารถเก็บมาบูชาและจัดผูกร้อยห้อยตามเสาไม้ โดยเฉพาะดอกจำปา ซึ่งนิยมนำมาเป็นพวง ๆ ประดับเสากลางลานพิธีกรรม พิธีกรรมเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า “ลงสนาม ” หรือในภาษาไทโส้ เรียกว่า  “แซงสนาม”

          คุณปู่จันดี ยังได้เล่าต่อว่า “รู้สึกดีใจมาก ที่จัดกิจกรรมให้กับเด็ก ๆ ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมของตนเอง หากไม่ให้เด็กได้เรียนรู้ ไม่วันใด วันหนึ่ง ก็จะไม่เหลือความเป็นไทโส้”

          หากอัตลักษณ์ของชุมชนถูกลบเลือนสูญหายไป ภูมิปัญญาเดิมก็จะได้รับความสำคัญน้อยลงจากคนในชุมชน เสี่ยงจะหายไปและสร้างปัญหาอื่นตามมาด้วย ตัวอย่างเช่น หากภ​ูมิปัญญา “เหยา” หรือ “แซงสนาม” เลือนหายไปความเคารพต่อบรรพบุรุษรากเหง้าวิถีชีวิต ชาวไทโส้ ก็จะถูกกลืนด้วยวิถีชีวิตของคนเมือง

          และเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ สำนักงานโครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ. จังหวัดนครพนม ได้จัดกิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาอนุรักษ์ ณ หอประชุมโรงเรียนบ้านดงวิทยาคาร เขตบริการบ้านนาขมิ้น (บ้านดง) อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม โดยมีเด็กเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 52 คน เพื่อเสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนร่วมกันสืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาของชุมชนตนเอง โดยมีปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของหมู่บ้าน เช่น ดอนปู่ตา พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน ถือว่าเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน ความเชื่อดังกล่าวได้หยั่งลึกลงไปจิตสำนึกของลูกหลานในชุมชน และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดมา ผีปู่ตาเป็นผู้รักษาหมู่บ้านให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข อีกทั้งยังมีการบ๋าหรือขอพรในกรณีต่าง ๆ ของคนในหมู่บ้าน สืบทอดกันมาเป็นรุ่น ๆ

           น้องโบว์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เด็กในความดูแลของมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ กล่าวว่า “หนูรู้สึกดีใจมากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ที่บ้านหนูจะพูดภาษาไทโส้เป็นหลัก หนูมักจะตามคุณแม่เข้าร่วมกิจกรรมประเพณีกับทางหมู่บ้านอยู่ตลอด แต่หลังจากที่แม่ไปทำงานที่ต่างจังหวัดก็จะห่างจากการเข้าร่วม แต่สำหรับงานในครั้งนี้ ซี.ซี.เอฟ. จัดกิจกรรม หนูรู้สึกสนุกและมีความสุขมากเลยค่ะ”

          นอกจากกิจกรรมที่จัดขึ้นจะทำให้เด็ก ๆ ได้รู้จักวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนมากขึ้น เด็ก ๆ ยังได้เรียนรู้ศึกษาบริบทชุมชน หมู่บ้านของตนเอง ผ่านการสังเกต การฟังเรื่องราวจากปราชญ์ชาวบ้าน ได้ฝึกการนำเสนอเรื่องราวที่ได้พบได้ฟัง และเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณีที่กำลังจะเลือนหาย ให้กลับคืนและคงอยู่คู่กับชุมชนอีกครั้ง

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสาร

ข้อมูลของท่านจะถูกจัดเก็บรักษาความปลอดภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

English

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก