ชีวิตน้อยๆ ที่กำลังรอคอย

ความเมตตาจากท่าน



“น้องพล” จังหวัดเชียงราย

          “น้องพล” เด็กชายชนเผ่าลาหู่วัย 7 ปี จากจังหวัดเชียงราย ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) มาตั้งแต่เล็ก ทั้งตัวจึงเต็มไปด้วยผื่นแดง สะเก็ด และแผลที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ส่งผลให้เกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ผิวหนัง “น้องพล” ต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะอดทนต่ออาการคันที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะหากเมื่อใดเผลอเกาก็จะเกิดการอักเสบบริเวณผิวหนัง ทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อน และนั่นทำให้น้องยิ่งต้องเจ็บปวดมากขึ้น

          แม่ของ “น้องพล” เล่าทั้งน้ำตาว่าน้องพลร้องไห้ทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้งขอให้แม่ช่วย น้องบอกว่าน้องเจ็บ แม่เองก็ไม่รู้จะช่วยเหลือน้องได้อย่างไร

          ครอบครัว “น้องพล” อาศัยอยู่บนเขาห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงรายราว 80 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางไป - กลับไม่น้อยกว่า 2-3 ชั่วโมงต่อเที่ยวการเดินทางทุกครั้งจึงต้องเช่าเหมารถเท่านั้น ทำให้การพาน้องเดินทางไปหาหมอในตัวเมืองแต่ละครั้งต้องใช้เวลาและเงินจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครอบครัวที่มีรายได้หลักจากการรับจ้างรายวัน ที่วันไหนไม่ไปทำงาน หมายถึงวันนั้นก็จะไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ดังนั้น สิ่งที่แม่ทำได้เพียงการทำความสะอาดแผลบรรเทาอาการเจ็บของลูกให้เท่านั้น




“น้องเก้า” จังหวัดบุรีรัมย์

          “น้องเก้า” อายุ 9 ปี จากจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ป่วยออด ๆ แอด ๆ มาตั้งแต่เกิดการรักษาเป็นไปตามอาการที่เกิดขึ้น จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วแพทย์โรงพยาบาลจังหวัดบุรีรัมย์ ส่งน้องไปตรวจที่โรงพยาบาลจังหวัดนครราชสีมาพบว่า น้องเก้าป่วยเป็นโรคโปรตีนรั่ว จึงไม่สามารถกินอาหารได้เหมือนเด็กทั่วไปข้อห้ามของน้องเก้า คือ อาหารโปรตีนสูงเนื้อสัตว์ติดมัน อาหารที่มีรสชาติหวาน มัน เค็ม ในแต่ละวันต้องกินไข่ขาว 3 ฟอง เพื่อเพิ่มโปรตีน อาหารประเภททอดต้องใช้น้ำมันรำข้าวเท่านั้น

สำหรับครอบครัวที่ไม่มีอาหารกินครบ 3 มื้อต่อวัน การที่ต้องควบคุมคุณภาพอาหาร จึงนับเป็นเรื่องยากลำบาก ความหนักใจที่ตามมาของครอบครัว คือ ต้องพาน้องเก้าไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ไกลจากที่บ้านกว่า 80 กิโลเมตร ทุกเดือน เดือนละ 3-4 วัน



“น้องนะโม” จังหวัดอำนาจเจริญ

          “น้องนะโม” ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้ต้องใส่สายยางในสมองต่อลงไปในกระเพาะอาหารเพื่อให้มีออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงสมอง ตั้งแต่เด็ก ๆ แต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 น้องนะโมป่วยต้องเข้าตรวจรักษาเช็คร่างกายอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลหัวตะพานอีกครั้ง ผลตรวจพบว่าน้องป่วยเป็นเนื้องอกในสมอง (มะเร็งสมอง) ต้องถูกส่งตัวไปรักษาและรับการฉายแสงที่ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์จังหวัดอุบลราชธานี

          ด้วยสถานการณ์โควิด พ่อ แม่ ของ น้องนะโม ถูกเลิกจ้างงานกลับมาอยู่บ้านขาดรายได้ ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จึงกลายเป็นปัญหาที่หนักยิ่งของครอบครัว




กองบุญกู้วิกฤติ

เพื่อชีวิตเด็กด้อยโอกาส


          กองบุญกู้วิกฤติ เป็นกองบุญที่มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กด้อยโอกาสที่ชีวิตต้องประสบกับภาวะวิกฤติ มีความเป็นอยู่ยากลำบาก และไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตเช่นคนปกติทั่วไป เช่น ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย สภาพร่างกายเจ็บป่วยหรือพิการ สภาพทางบ้านขาดคนดูแล ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อให้เด็กสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติหรือใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด ปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษแล้วกว่า 2,378 คน


เด็กที่อยู่ในภาวะวิกฤติ

  • เด็กเจ็บป่วยรุนแรง
  • เด็กพิการหรืออยู่ลำพัง ไม่มีผู้ใหญ่ดูแลหรืออาศัยอยู่กับผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย
  • เด็กต้องรับภาระเลี้ยงดูคนในครอบครัวที่พิการหรือชรา
  • เด็กที่เผชิญความรุนแรงในครอบครัว


เสริมสร้างกำลังใจ

แม้ร่างกายไม่ไหว แต่ใจแข็งแรง

          มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็ก และเยาวชนฯ ต้องการเห็นชีวิตของเด็กทุกคนได้รับการพัฒนาที่ดีขึ้นไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ จึงจัดโครงการกองบุญกู้วิกฤติเพื่อชีวิตเด็กยากไร้ที่อยู่ในภาวะยากลำบากมากและไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตได้ เช่น คนปกติทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีปัญหาซ้ำซ้อนหลายด้าน ทั้งปัญหาที่อยู่อาศัย สุขภาพร่างกายที่เจ็บป่วย พิการ หรือ ขาดผู้ดูแล ในปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือเด็กจำนวน ทั้งหมด 118 คน แบ่งตามกลุ่มดังนี้

เด็กที่เจ็บป่วย พิการ

ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

จำนวน 36 คน

เด็กอาศัยอยู่ตามลำพัง

กับผู้สูงอายุ

จำนวน 48 คน

เด็กที่ต้องดูแลพ่อแม่

ที่เจ็บป่วย พิการ

จำนวน 34 คน



ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในภาวะวิกฤติ

ระยะเร่งด่วน

  • สนับสนุนการช่วยเหลือเฉพาะทาง
  • สนับสนุนอาหารและน้ำเพื่อการยังชีพ
  • ปรับปรุง ซ่อม สร้าง ที่พักอาศัยให้ปลอดภัยถูกสุขลักษณะ

ระยะฟื้นฟู

  • สร้างแหล่งอาหารในครัวเรือน เช่น การปลูกผัก เลี้ยงสัตว์
  • สนับสนุนทุนการศึกษาหรือทุนพัฒนาทักษะอาชีพ

การดูแลระยะยาว

  • ประสานหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับสวัสดิการ
  • มอบทุนพัฒนาทักษะอาชีพ
  • ระดมจิตอาสาจากชุมชนและชาวบ้านเพื่อร่วมให้การช่วยเหลือ

บริจาค